เหยื่อหนี้นอกระบบพุ่ง
พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะเลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้กล่าวว่าสถิติผู้ร้องขอความช่วยเหลือด้านหนี้สินภาคประชาชน ระหว่างปี 2553 – 13 กันยายน 2560 มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมดจำนวน 1,020 เรื่อง จำนวนผู้ร้อง 6,910 คน ทุนทรัพย์กว่า 8,476 ล้านบาท
โดยกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อนายทุนเงินกู้นอกระบบ หากเป็นสังคมชนบทจะเป็นกลุ่มเกษตรกร ส่วนในเขตเมืองก็จะเป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือน และคนค้าขาย ซึ่งหากจำแนกเป็นภูมิภาค จะพบว่าในเชิงปริมาณ พื้นที่ภาคอีสานจะรุนแรงและมีจำนวนมากที่สุด รองลงมาคือภาคเหนือ ส่วนหนี้สินในแถบภาคกลางมักจะเป็นหนี้กู้ยืม ส่วนภาคใต้ก็จะเป็นหนี้ขายฝากเป็นหลัก
ในด้านการให้ความช่วยเหลือนั้น จะเน้นให้การช่วยเหลือในลักษณะกลุ่ม คือ เจ้าหนี้รายเดียว แต่มีลูกหนี้จำนวนมาก โดยขณะนี้มีคดีใหญ่ๆ 10 กลุ่ม เช่น ที่ จ.เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครสวรรค์ เชียงราย ขอนแก่น นครราชสีมา และคดีปุ๋ยที่ จ.บุรีรัมย์ ที่มีผู้ร้องมากถึง 210 คน
ปัญหาหนี้นอกระบบนี้สำหรับเกษตรกรแล้ว เสี่ยงที่จะสูญเสียที่ดินมากสุด เนื่องจากคนในพื้นที่ตามไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมนายทุน โดยตอนนี้ที่ดินในภาคอีสานมีราคาสูงขึ้น ทำให้มีนายทุนต่างถิ่นเข้ามากว้านซื้อ ซึ่งหากชาวบ้านไม่ยอมขาย ก็จะใช้วิธีทำสัญญาขายฝาก
แต่ในรูปแบบการขายฝากนั้นจะหลอกให้ผ่อนดอกเบี้ยรายวัน ซึ่งจะอาศัยความไม่รู้ของชาวบ้าน เช่น กรณีที่ จ.ชัยภูมิ อุบลราชธานี มีเจ้าหนี้ไล่ฟ้องชาวบ้านกว่า 1 พันราย ซึ่งสุดท้ายชาวบ้านก็แพ้คดี เพราะมีการให้ยอมความในลักษณะที่เสียเปรียบ ชาวบ้านขาดนัดไม่ไปศาล อาจจะเพราะเกรงกลัวหรืออะไรก็แล้วแต่ เลยทำให้แพ้คดี
“ปัญหาที่สำคัญมาก คือ ความไม่รู้กฎหมาย และเมื่อเกิดปัญหา หรือถูกฟ้องก็ไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานใด การเข้าถึงความเป็นธรรมไม่มี ดังนั้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทางศูนย์จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการช่วยถ่ายทอดความรู้แก่ประชาชน และได้มีการต่อยอดจากงานวิจัยพัฒนา มาเป็น The Choice เกมทางเลือก-ทางรอด เพื่อช่วยให้เรียนรู้กฎหมายได้ง่ายขึ้น เพราะการให้ความรู้กับประชาชนที่ถูกต้อง จะเป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างยั่งยืน” พ.ต.ท.วิชัย กล่าวสรุป